หลังจากเลื่อนกำหนดการฉายจากช่วงไตรมาสแรกของปีมาเป็นเดือนธันวาคม พร้อมการโปรโมทอย่างหนักหน่วงและกระแสที่ค่อนข้างแรงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ในฐานะนักอ่าน และนักดูที่ชื่นชอบในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรม ไอ้ครั้นจะปล่อยให้ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจาก Moby Dick วรรณกรรมชิ้นเอกของโลกไปเฉย ๆ โดยไม่ลองไปท้าพิสูจน์ก็คงจะเป็นไปไม่ได้
ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าประทับใจกับการดัดแปลงเนื้อหาและการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้มากทีเดียว เพราะเขาสามารถเชื่อมโยงหนังสือกับเรื่องราวที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังได้อย่างลื่นไหล น่าติดตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า ผลจากที่เคยอ่านและดู Life of Pi มาก่อนหน้านี้ ทำให้ความสนุกของภาพยนตร์ In the Heart of Sea ดร็อปลงไป กลายเป็นภาพยนตร์ที่คาดเดาทางได้ ดูสนุก แต่ไม่ตราตรึงใจ เพราะหลายอย่างใกล้เคียงกับ Life of Pi ที่โดยส่วนตัวมองว่าทำได้ดีกว่า ในแง่ของความกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดท่ามกลางมหาสมุทรสุดลูกหูลูกตา และการต้องเผชิญหน้ากับด้านมืดอันโหดร้าย สัญชาติญาณดิบของมนุษย์ที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอด
นอกจากภาพรวม หนังใหม่ หลายส่วนที่มีความคล้ายคลึงกัน In the Heart of Sea ก็ยังเป็นภาพยนตร์ที่แฝงไปด้วยแง่คิดทางศีลธรรม และการตั้งคำถามเชิงปรัชญาต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเองอย่างชีวิต ธรรมชาติ และพระเจ้า ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเอกผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวอย่างพายใน Life of Pi และคุณนิคเคอร์สันใน In the Heart of Sea ก็ยังประสบปัญหาอย่างเดียวกันคือการต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต หรือ Survivor Guilt แต่ทั้งคู่กลับรับมือกับปัญหาทางสุขภาพจิตนี้แตกต่างกันออกไป “ พาย ” ร่ำไห้ หวาดกลัวกับด้านมืดของตัวเองที่กำลังจะเดินจากไป ( ตัวเสือ ) รู้สึกผิดกับการกระทำอันยากจะยอมรับได้ของตัวเอง และหวาดหวั่นว่าตนเองจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมได้หรือไม่ ทว่า “ นิคเคอร์สัน ” ซึ่งขณะที่ประสบเคราะห์กรรมนั้นเยาว์วัยกว่า มีชีวิตชีวาและเปี่ยมไปด้วยแรงศรัทธาน้อยกว่า กลับดูเหมือนจะรับมือกับความรู้สึกของตนเองได้ดีกว่าเมื่อได้กลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่